ผลิตภัณฑ์แชมพูเป็นผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน
ใช้ทำความสะอาดเส้นผมและหนังศีรษะ โดยในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา พบว่าผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมอย่างแชมพูและครีมนวดผม
นับเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์สินค้าเครื่องใช้ส่วนบุคคล (อันได้แก่ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม
ผลิตภัณฑ์ถนอมผิวหน้า และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวกาย เป็นต้น) ที่มีมูลค่าทางการตลาดสูงสุด
โดยมีมูลค่าตลาดรวมกว่า 13,000 ล้านบาท และเป็นตลาดพรีเมี่ยมถึง 61% ซึ่งมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
สิ่งนี้เป็นตัวบ่งชี้ว่าผู้บริโภคมีความต้องการผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมที่สลับซับซ้อนมากขึ้น
การแข่งขันในตลาดแชมพูค่อนข้างรุนแรงเนื่องจากบริษัทผู้ผลิตมีการทำกิจกรรมทางการตลาดในงบประมาณที่สูง
การแข่งขันมีการพยายามสร้างความแตกต่าง
บริษัทผู้ผลิตในตลาดอุตสาหกรรมแชมพูสระผมในประเทศไทยมีรายใหญ่อยู่
3 บริษัท ได้แก่ บริษัท ยูนิลีเวอร์ (ประเทศไทย)จำกัด บริษัท พรอคเตอร์ แอนด์
แกมเบิล แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งพบว่าบริษัทที่ครองส่วนแบ่งการตลาดในตลาดพรีเมี่ยมเป็นอันดับแรกมาโดยตลอดคือ
บริษัท ยูนิลีเวอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ตามมาด้วย บริษัท พรอคเตอร์ แอนด์ แกมเบิล
แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ P & G ครองอันดับสอง ส่วน บริษัทลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด มาเป็นอันดับสาม
สิ่งที่มีอิทธิพลต่อการขึ้นลงของส่วนแบ่งการตลาดขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ
อย่าง ไม่ว่าจะเป็นความต้องการซื้อของผู้บริโภคที่ไม่สามารถคาดเดาได้แน่นอน
ปัญหาทางการเมือง ความผันผวนของราคาน้ำมัน
รวมถึงผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายโดยการใช้เวลาในการเปรียบเทียบสินค้าก่อนตัดสินใจมากขึ้น
เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่เติบโตในระดับคงตัว และผลิตภัณฑ์จำเป็นในชีวิตประจำวันอย่างแชมพู
เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความยืดหยุ่นต่อราคาค่อนข้างสูง การปรับขึ้นราคาอาจเป็นการผลักดันให้ผู้บริโภคหันไปซื้อสินค้าของคู่แข่งขันแทน
และส่งผลกระทบต่อเป้าหมายยอดขายของกิจการได้ ดังนั้นเพื่อเพิ่มยอดขายชดเชยกำไรที่หายไปจากการที่ไม่สามารถปรับขึ้นราคาสินค้าได้
บริษัทต่างๆ จึงมีการรักษาลูกค้าเก่า และหาลูกค้าใหม่ด้วยกลยุทธ์ต่างๆ มากขึ้น เช่นการสร้างการเติบโตทางธุรกิจผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม
นอกจากการทุ่มงบโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ และกลยุทธ์ด้านราคาที่น่าจะมาในรูปแบบของการลดขนาดและจำหน่ายในราคาเดิม
รวมถึงการลด แลก แจก แถมสินค้า การผลิตสินค้าที่มีขนาดเล็กลง และที่สำคัญ
ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วยการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value
Added) ให้แก่สินค้าทั้งในด้านการพัฒนาตัวสินค้าเดิมให้มีประสิทธิภาพในการดูแลรักษาเส้นผมมากขึ้น
และการนำเสนอนวัตกรรม (Innovation) ใหม่ๆ ให้แก่ผู้บริโภคเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีความหลากหลายและต้องการสินค้าเฉพาะตัวมากขึ้น
เพื่อสร้างความแตกต่าง
ตลาดผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผม
แบ่งออกเป็นตลาดแชมพู และตลาดครีมนวดผม ซึ่งได้แบ่ง Segment
ออกเป็นตลาดแชมพูเพื่อความงาม 65% รองลงมาคือ ตลาดแชมพูขจัดรังแค
33% และตลาดแชมพูสำหรับเด็ก 2% ส่วน หากจะแบ่งตามตำแหน่งของแชมพูนั้น จะแบ่งได้ 3
ระดับ ระดับแรกคือ ตลาดบน หรือตลาดพรีเมี่ยม (Premium price shampoo or
class A, ส่วนแบ่งตลาดในปี 2554 อยู่ที่
61% และอัตราเติบโต 8%) เช่น
แพนทีน โดฟ ลอรีอัล Schwarzkopf เวลล่า เป็นต้น ซึ่ง
Cosmetic Beauty Shampoo ต่างๆ ก็จัดอยู่ในตลาดนี้ด้วย ระดับที่สองคือ
ตลาดระดับกลาง (Medium price shampoo or class B) เช่นซันซิล
คลินิก รีจ้อยส์ เป็นต้น และระดับสุดท้าย ระดับที่สาม ตลาดล่าง (Low price
shampoo or cheap price shampoo or class C) เช่นแฟซ่า เป็นต้น ส่วนแบ่งตลาดของตลาดระดับกลางและล่างในปี
2554 อยู่ที่ 39% และมีอัตราเติบโต 4%
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น